TWCAG คืออะไร

TWCAG ย่อมาจาก Thai Web Content Accessibility Guidelines หรือ แนวทางการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้

และทำไมต้องทำเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้

Web Accessibility หมายถึงความสามารถในการเข้าถึงเนื้อหาบนเว็บไซต์ ที่รองรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือบุคคลทั่วไป การที่ทำให้เว็บไซต์มีความสามารถเช่นนี้จะทำให้ผู้ใช้ที่พิการ (Disabled) สามารถเข้าถึงและเข้าใจเนื้อหา (Content) ในเว็บไซต์นั้นรวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์นั้นได้ การออกแบบให้เว็บไซต์ให้สามารถเข้าถึงได้ (Accessible) หรือสอดคล้องกับข้อแนะนำเรื่อง Web Accessibility ก็จะเป็นประโยชน์กับคนพิการทางสายตา คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางร่างกาย ผู้ใช้ที่ทุพลภาพชั่วคราว ผู้สูงอายุที่สายตาเลือนลาง จนกระทั่งผู้ใช้ปกติที่ใช้ช่องสัญญาณความเร็วต่ำ ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาในเว็บไซต์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อเว็บไซต์ได้รับการพัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงได้แล้ว จะส่งผลให้คนตาบอดอ่านเว็บไซต์โดยใช้ Screen Reader หรือโปรแกรมอ่านหน้าจอ และได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประเภทตัวหนังสือ ตัวเลข โดยเน้นลำดับการอ่านที่ถูกต้องตามการนำเสนอ หรือแม้รูปภาพ ซึ่งสามารถทดแทนได้ด้วยคำอธิบาย สำหรับผู้ที่สายตาเลือนลางอาจใช้โปรแกรมขยายหน้าจอเพื่อให้อ่านง่ายขึ้นเป็นต้น

การพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้นั้น  สิ่งสำคัญคือความเข้าใจในข้อจำกัดในการเข้าถึงเนื้อหาในเว็บไซต์ และทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาในจุดต่างๆ ดังนั้นทางกลุ่ม Web Accessibility Initiative ภายใต้องค์กร World Wide Web Consortium หรือ W3C นั้น ได้สร้างแนวทางของเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้คือ Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) โดยกำหนดเป็นระดับต่างๆ 3 ระดับคือ A, AA และ AAA

เอกสาร TWCAG 2010


โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย เปิดตัวแบบเรียนเดซี่ หลักสูตรนวดไทยไฮเทคเพื่อ ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงโอกาสสอบใบประกอบโรคศิลปะประกอบการทำงาน ด้านมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เครือข่ายองค์กรผู้พิการทางสายตา และวิทยาลัยราชสุดา ชี้ หมอนวดตาบอดร่วม 1,200 คน ขาดโอกาสในการเข้าถึงการสอบใบประกอบโรคศิลปะ เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิรูประบบหลักสูตรการเรียนการสอน และสนับสนุนเครือข่ายคนพิการเปิดสถานพยาบาลเฉพาะทางเพื่อรองรับการนวดแผนไทย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการวิชาชีพการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ผู้พิการในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอด แต่เขาเหล่านั้นยังได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือให้พึ่งพาตนเองได้น้อย อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการมีอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ โดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎระเบียบ ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 กระทั่ง สามารถเปิดโอกาสให้คนตาบอดมีสิทธิสอบเพื่อรับใบประกอบโรคศิลปะได้ในสาขาการนวดไทย อย่างไรก็ตาม การจะมีสิทธิสอบได้นี้ คนตาบอดจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันและหลักสูตรการสอนที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยและประเภทการนวดไทย (หมอนวดไทย) ขึ้น เพื่อสานฝันในเรื่องที่กฎหมายเปิดโอกาสไว้แล้ว ให้เป็นจริง
“โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย และประเภทการนวดไทย จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยต่อยอดให้ผู้พิการสามารถสร้างอาชีพของตนได้ อย่างภาคภูมิใจซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการให้เรื่องนี้ เป็นจริงโดยเร็วที่สุด” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการ แพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า มูลนิธิได้ร่วมกับองค์กรผู้พิการทางสายตา 7 องค์กร ได้แก่
1) ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดปากเกร็ด
2) ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน
3) สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
4) มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด
5) มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาสยาม บรมราชกุมารี
6) ศูนย์การเรียนรู้และสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี
7) สมาคมส่งเสริมการนวดแผนไทยคนตาบอด
ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเตรียมคนตาบอดให้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะสอบใบประกอบโรคศิลปะได้ โดยโครงการนี้จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนตาบอด เช่น การจัดทำตำราเป็นหนังสือเสียงเดซี หนังสือตำราที่ใช้อักษรเบรลล์และภาพนูน เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการจะสนับสนุนมูลนิธิหรือเครือข่ายคนตาบอด ที่สอนนวดอยู่แล้ว ให้ได้รับการรับรองเป็นสถาบันอบรมถ่ายทอดความรู้วิชาชีพการนวดไทย ที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม คณบดีวิทยาลัยราชสุดา กล่าวว่า จากข้อมูล การสำรวจผู้พิการทางสายตาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2550 จำนวนสามแสนกว่าคน พบว่าผู้พิการส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการอ่านหนังสือ เพราะ ไม่สามารถอ่านได้เหมือนคนตาดีทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือด้วยระบบสัมผัสทางเสียงเช่นเทปคาสเซ็ท หรือการอ่านด้วยระบบสัมผัสเช่นอักษรเบรลล์ เพราะหนังสืออักษรเบรลล์มีความหนาเกินไปไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ ส่วนเทปคาสเซ็ทเองก็ไม่มีความคงทน และไม่สามารถค้นหาคำหรือประโยคได้ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับผู้พิการทางสายตา ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาลัยราชสุดาจึงได้คิดค้นและจัดทำหนังสือเสียงเดซี่ (DAISY) หรือ DAISY ACCESSIBLE INFORMATION SYSTEM ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาต้องการค้นหาได้ ซึ่งหลักสูตรแรกที่วิทยาลัยได้จัดทำสำหรับหนังสือเสียงเดซี่ คือสื่อการเรียนการสอนสำหรับหมอนวดตาบอด ที่มีทั้งเสียงและรูปภาพแบบนูนที่ผู้พิการทางสายตา สามารถสัมผัสในหนังสือได้ ซึ่งหนังสือเสียงเดซี่นี้จะมีทั้งสองรูปแบบ คือแบบที่เป็นแผ่นซีดีที่สามารถเปิดใช้ในคอมพิวเตอร์ได้ และแบบเล่มที่เป็นรูปภาพนูนที่สามารถสัมผัสรูปภาพและนำไปปฏิบัติตามได้ จุดเด่นของหนังสือเสียงเดซี่ที่แตกต่างจากหนังสืออักษรเบรลล์และเทปเสียง ก็คือ รูปแบบอัจฉริยะและยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่น หากผู้พิการทางสายตานำโปรแกรมหนังสือเสียงเดซี่มาเปิดในคอมพิวเตอร์ ก็สามารถสืบค้นคำที่ต้องการค้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น หากต้องการค้นหาคำว่า “นวดสมุนไพร” โปรแกรมก็จะค้นหาคำนั้นให้พร้อมมีเสียงประกอบ และข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการนวดสมุนไพร ก็จะวิ่งขึ้นมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้พิการทางสายตาจะสามารถฟังเสียงตามตัวอักษรที่หน้าจอได้เลย ซึ่งโปรแกรมอื่นๆ ไม่สามารถทำได้แบบนี้ อย่างไรก็ตามหากผู้พิการไม่อยากฟังในรูปแบบของเสียงก็สามารถพิมพ์ออกมาในรูป แบบของภาพนูนเพื่อทำการศึกษาได้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา สามารถเข้าถึงการสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบโรคศิลปะด้านการนวดไทยได้
ด้านนาย เครื่อง สีบัวพันธ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมอาชีพของมูลนิธิคอลฟิลด์กล่าว ในความเป็นจริง ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบว่า คนตาบอดมีโอกาสเข้าถึงการประกอบอาชีพและการศึกษาได้ยากอย่างยิ่ง เพราะจากตัวอย่างของคนตาบอดที่เข้ามาเรียนเรื่องการนวดในมูลนิธิคอลฟิลด์และ มูลนิธิอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย แต่ผู้พิการเหล่านี้สามารถนวดได้อย่างชำนาญและลึกซึ้ง เพราะประสาทสัมผัสที่ดีกว่าคนทั่วไป รวมทั้งคนตาบอดทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพที่ทำอยู่ และเขาเหล่านั้นตระหนักว่า แม้สายตาของเขาจะพิการ แต่เขาก็สามารถประกอบอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเองได้ และบางคนยังอาศัยอาชีพนี้ดูแลครอบครัวได้อีกด้วย นอกจากนี้ สิ่ง สำคัญที่จะทำให้คนตาบอด สามารถอุ่นใจและมั่นใจในการประกอบวิชาชีพการนวดไทยของตนเองได้นั้นคือ “ใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย” ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ที่ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะระบุให้คนตาบอด สามารถสมัครสอบเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทยได้ แต่ขั้นตอนต่างๆ กลับยากยิ่งกว่าการสอบของผู้ที่มีสายตาปรกติ ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการนวดไทย ที่แต่ละองค์กรเคยมีหลักสูตรของตนเอง แต่ก็แตกต่างกัน ทั้งด้านเนื้อหาวิชา ชั่วโมงการเรียนการสอน ครู สื่อการเรียนการสอน และการประเมินผล
“แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้แล้ว แต่ยังต้องการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้คนตาบอด สามารถเข้ารับการสอบเพื่อใบประกอบโรคศิลปะทางการนวดแผนไทยได้อย่างแท้จริง เนื่องจากในกระบวนการสอบ คนตาบอดไม่สามารถใช้รูปแบบการสอบเหมือนบุคคลทั่วๆ ไปได้ ทั้งนี้ หากกระบวนการสอบเป็นอุปสรรคก็ไม่ต่างอะไรจากการตัดโอกาสและสิทธิของผู้พิการ เหล่านั้นไปอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้ผมว่าเราต้องคิดและช่วยกันแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง”นายเครื่องกล่าว
ด้าน นพ.ธเนศ กริษนัยริววงศ์ ตัวแทนจากสำนักสถานพยาบาล และการประกอบโรคศิลปะกล่าวว่า หลังจากที่กรมการแพทย์แผนไทยได้มีมติให้มีการศึกษา และเตรียมความพร้อมสำหรับผู้พิการทางสายตาที่จะมาเข้ารับการสอบให้ได้ใบ ประกอบโรคศิลปะ ในปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมาเราได้ขานรับในมตินี้และได้มีการพัฒนาระบบหลายส่วนที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาสอบได้ง่ายขึ้น และ อนาคตจะรองรับผู้พิการทางสายตาจากทางโครงการและเครือข่ายที่จะเข้ามาสมัคร สอบมากขึ้นด้วย (ASTVผู้จัดการออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 ม.ค. 2553 )

ดาวน์โหลดบทความเพื่ออ่าน

โปรแกรม อักษรลิขิต (Download)

โปรแกรม PPA Tatip (Download)

โปรแกรม JPT Tatip PlugIn version 6.0 (Download)

โปรแกรม Reg Tatip (Download)

โปรแกรม JPT Tatip Dictionary version 1.0 (Download)

โปรแกรม CET EMBOSSING MANAGER (Download)

พระราชทานสายสะพายทหารหญิงไทย-อเมริกันพิการ ผช.รมต.รัฐบาลโอบามา


ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระ ราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) ให้แก่ พันตรีหญิง ลัดดา
แทมมี ดั๊กเวิร์ด
(Major Ladda Tammy Duckworth) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 ในฐานะเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา
สำหรับประวัติ “พันตรีหญิง ลัดดา แทมมี ดั๊กเวิร์ด” นั้น เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1968 ที่กรุงเทพฯ เป็นลูกสาวของนายแฟรงก์ แอล.ดั๊กเวิร์ธ และนางลำไย สมพรไพรินทร์ มีน้องชายชื่อทอม ครอบครัวดั๊กเวิร์ธมักจะโยกย้ายอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยครั้ง เพราะคุณพ่อเป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ
“พันตรีหญิง ลัดดา” เป็นชาวเมืองฮอฟฟ์แมนเอสเตท รัฐอิลลินอยส์ อดีตทหารหญิงไทย-อเมริกัน โดยเป็นนักบินประจำเครื่องแบล็คฮอว์คเคยไปประจำการอยู่ที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก อันเป็นสมรภูมิที่ทำให้ต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต
ประวัติด้านการศึกษา เธอจบไฮสคูลด้วยคะแนนเกียรตินิยมที่ McKinley High School จากนั้นเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาวายจบในปี 1989 สาขาวิชารัฐศาสตร์ และเรียนจบปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย George Washington University ต่อมา ได้รับปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Northern Illinois University โดย สนใจค้นคว้าเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองและสาธารณสุขในเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ และยังทำงานด้านสังคมโดยเป็นซูเปอร์ไซเซอร์ให้กับโรตารีสากลสำนักงานใหญ่ ที่เมืองเอฟแวนสตัน รัฐอิลลินอยส์

ก่อนหน้าที่จะได้ออกสนามรบจริงๆ นั้น เธอเข้าร่วมฝึกเป็นนายทหารกองหนุน หรือ the Reserve Officers Training Corps (ROTC) เมื่อปี 1990 ขณะศึกษาอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี และได้ประจำการเป็นทหารกองหนุนของกองทัพบก (the Army Reserve) ในรัฐอิลลินอยส์ตั้งแต่ปี 1992 สาเหตุที่เธอเข้ารับการฝึกเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์นั้น เพราะเธอเห็นว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่ไม่กี่อย่างที่ผู้หญิงสามารถทำได้ระหว่าง อยู่ในสนามรบ

ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2004 เธอทำหน้าที่เป็นนักบินผู้ช่วยเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอล์ค (UH-60 Black Hawk) ของกองกำลังป้องกันชาติ (National Guard Unit) บินตรวจการอยู่ทางเหนือของกรุงแบกแดด เฮลิคอปเตอร์ของเธอถูกจรวด ของฝ่ายตรงข้ามยิงใส่จนเกิดระเบิดขึ้น แม้จะได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง แต่เธอก็ช่วยนักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงได้อย่างปลอดภัย จนถูกส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในแมรีแลนด์ และพบว่าแรงระเบิดทำให้ต้องตัดขาทั้งสองข้างทิ้งและแขนขวานั้นหักหลายท่อน และต้องเข้าการรักษาอีกยาวนาน
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2004 เธอได้รับเหรียญกล้าหาญ a Purple Heart และ ได้รับการเพิ่มยศเป็น “พันตรี” ในวันที่ 21 ธันวาคม ระหว่างรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลวอเตอร์ รีด และแทมมี่ยังได้รับเหรียญประดับเกียรติอีก 2 เหรียญคือ an Air Medal และ Army Commendation Medal หลังจากนั้น “พันตรีหญิงลัดดา” เริ่มสนใจการเมือง โดยเมื่อปี 2549 เธอได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคเดโมแครต ให้เป็นตัวแทนพรรคลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 6 มลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งถือเป็นคนอเมริกันเชื้อสายไทยคนแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ก็พ่ายแพ้ไปโดยมีคะแนนห่างคู่แข่งเพียงแค่ 2% เท่านั้น
ปัจจุบัน “พันตรีหญิงลัดดา” ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึก โดยมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือทหาร ผ่านศึกที่ไร้บ้าน กิจการด้านผู้บริโภค และกิจการฟื้นฟูพิเศษด้านอื่นๆ(มติชนออนไลน์ขอบคุณข้อมูลประกอบจากwww.dek-d.com และ blog.eduzones. com/bluesky/23769/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ม.ค.2553)

Web Accessibility
wac
ความสำคัญ ในการให้บริการข้อมูล ข่าวสารที่ให้คนพิการเข้าถึงได้

รัฐธรรมนูญปีฉบับปี 2540 และ ปี 2550 มาตรา 55 กล่าวว่า บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ประเทศไทยได้รับรองนโยบายที่เป็นข้อตกลงนานาชาติทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก อันได้แก่
1. กรอบปฏิบัติงานแห่งสหัสวรรษ จากการประชุมของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเซียและแปซิฟิก (เอสแคป) ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2545ว่าด้วยเรื่อง แนวทางในการดำเนินนโยบายสำหรับคนพิการ ซึ่งรวมถึง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้เป็น 1 ใน 7 นโยบายที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ
2. การประชุมสุดยอดว่าด้วยสังคมสารสนเทศ World Summit on the Information Society (WSIS) ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ จัดโดยสหประชาชาติ เมื่อธันวาคม 2546 มีคำประกาศปฏิญญาว่าด้วยหลักการ (Declaration of Principles) และแผนดำเนินการ (Plan of Action) มีเป้าหมายในการก้าวไปสู่สังคมสารสนเทศที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยที่ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ เข้าถึง ใช้ประโยชน์ และแบ่งปัน สารสนเทศและความรู้ เป็นสังคมที่เอื้ออำนวยต่อทั้งปัจเจกบุคคลและชุมชน ในการใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ในการมีส่วนร่วมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3. องค์กร International Telecommunication Union ได้ประกาศใช้ Telecommunications Accessibility Guidelines for older persons and persons with disabilities เป็นแนวทางการเข้าถึงทางการบริการการสื่อสารและโทรคมนาคมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ
นอกจากนั้นประเทศไทยเองมีกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะ พ.ศ.2544 – 2553 ซึ่งมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาในภาคสังคม (e-Society) ความว่า คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีสติปัญญาและความสามารถในการพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ความรู้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่มีความเอื้ออาทรและการแบ่งปัน

รวมถึง พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ในมาตรา 20 (6) กล่าวไว้ว่า “ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารสำหรับคนพิการทุกประเภท ตลอดจนบริการสื่อสาธารณะจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำหนดในกฎกระทรวง”

ความหมาย Web Accessibility
เว็บแอ็กเซสซิบิลีตี หมายถึง การที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ได้ กล่าวโดยละเอียด คือ คนพิการสามารถรับรู้ เข้าใจ นำร่อง และมีปฏิสัมพันธ์ กับเว็บ และรวมถึงการป้อนข้อมูลกลับไปยังเว็บได้ เว็บแอ็กเซสซิบิลีตียังเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มอื่นๆ รวมถึง ผู้สูงอายุที่ความสามารถได้เปลี่ยนแปลงไปตามวัย อ้างอิง เว็บแอ็กเซสซิบิลิตี(แปล)

ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุมถึงทุกความพิการ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเว็บ รวมถึงผู้บกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางร่างกาย ทางการพูด ทางสติปัญญาและการเรียนรู้ และทางระบบประสาท
เนื่องจากการมองเห็น เป็นการเริ่มต้นของการรับข้อมูลข่าวสารด้วยการใช้ดวงตา เพื่อที่จะทำความเข้าใจจากสิ่งนั้นๆ ดังนั้นแล้วผู้บกพร่องทางการเห็นจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยในการทำความเข้าใจข้อมูลข่าวสารนั้นๆ จากวิธีอื่น นั่นก็คือ การเปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ในรูปตัวอักษร ให้เป็นข้อมูลทางเสียง
(Text To Speech: TTS) หรือการแสดงอักษรเบรลล์ นั่นก็หมายถึงว่าจะต้องมีโปรแกรมหรือบราวเซอร์ สำหรับอ่านหน้าจอออกมาในรูปของเสียง หรือในรูปของอักษรเบรลล์ โดยที่ต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วง หรือที่เรียกว่า เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ (Braille Display) ให้นั่นเอง ถ้าเป็นโปรแกรมสำหรับอ่านหน้าจอ ได้แก่ โปรแกรม JAWS ของ Freedom Scientific ที่เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ใช้ที่ตาบอด โดยทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้เพิ่มเสียงอ่านภาษาไทยเข้ามา โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก บริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาพัฒนาเสียงอ่านภาษาไทยที่ชื่อ โปรแกรมตาทิพย์ (PPA Tatip)
และบราวเซอร์สำหรับอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ออกมาในรูปของเสียง เช่น Homepage reader ของบริษัท IBM ซึ่งทาง IBM ได้พัฒนาการอ่านในหลายภาษา รวมทั้งการอ่านเป็นภาษาไทย
ในการออกแบบโปรแกรมช่วยเหลือเหล่านี้จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานกลาง โดยมีองค์กร
World Wide Web Consortium (W3C) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำหนดมาตรฐานกลางต่างๆ ของเทคโนโลยีที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ดังนั้นการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ในการอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ จำเป็นต้องพัฒนาให้อยู่ในกรอบ หรือแนวทางที่ได้กำหนดไว้ คือ User Agent Accessibility Guidelines (UAAG)
ถึงอย่างไรก็ตาม
W3C ยังได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึง ไว้คือ Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญของการพัฒนาเว็บไซต์ทั่วๆ ไป ที่ต้องมีการนำเสนอข้อมูลเนื้อหาต่างๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนปกติ ยังต้องได้รับข้อมูลข่าวสารในความหมายเดียวกันได้
ท่านสามารถตรวจสอบเว็บไซต์ของท่านได้ที่ ระบบตรวจสอบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึง

บทบาทใหม่ “พลังคนพิการเพื่อสังคม”

      กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการจัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2552 ร่วมระลึกวันคนพิการสากล เตรียมเปิดตัวกิจกรรม “D-Day จดทะเบียน รับเบี้ยความพิการ” พร้อมกันทั่วประเทศ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า “องค์การสหประชาชาติได้มีมติประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกได้ดำเนินการให้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคนพิการสากลเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2552 นี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก (Theme) เพื่อเป็นแนวทางจัดกิจกรรมให้แก่ประเทศสมาชิก คือ “Empowerment of Persons with Disabilities and Their Communities around the World.” การเสริมพลังคนพิการ และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่คนพิการอยู่อาศัย”
      นายอิสสระ กล่าวต่อไปว่า “ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานระดับนโยบายด้านคนพิการหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิและโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง การจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่คนพิการในฐานะภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) การจัดให้มีระบบบริการล่ามภาษามือ และการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการแก่คนพิการทุกคนที่จดทะเบียน เดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยกำหนดออกบัตรประจำตัวคนพิการแบบใหม่และลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยความพิการ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นวันคนพิการสากลด้วย”
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานคณะทำงานอำนวยการจัดงานฯ กล่าวว่า “การจัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2552 โดยคณะกรรมการจัดงานวันคนพิการสากล ได้กำหนดประเด็นหลักของการจัดกิจกรรมภาษาไทย ไว้ว่า “พลังคนพิการเพื่อสังคม” เพราะองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับคนพิการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการชายขอบ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ หรือถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้นการเสริมพลังคนพิการ เสริมสร้างศักยภาพคนพิการ และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่คนพิการอยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อคนพิการมีศักยภาพ ย่อมนำสู่พลังที่สร้างสรรค์ในสังคม จึงสอดคล้องกับประเด็นการจัดงานของประเทศไทยในปีนี้ เนื่องจากคนพิการเองต้องการให้สังคมมีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการ และในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 จะเป็นวันที่คนพิการจะได้แสดงให้สังคมได้เห็นพลังของคนพิการเพื่อสังคม”
      กิจกรรมในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ส่วนกลางนั้นจัดขึ้น ณ ห้องรอยัลจูบีลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลพิการดีเด่น องค์กรดีเด่นที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านคนพิการ และสถานประกอบการดีเด่นด้านการจ้างงานคนพิการ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคนพิการ การแสดงความสามารถของคนพิการและนิทรรศการความก้าวหน้าในงานด้านคนพิการ การรวมพลังคนพิการเพื่อสังคมของคนพิการ และองค์กรด้านคนพิการ รวมทั้งกิจกรรม “D-Day จดทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิเบี้ยความพิการ และออกบัตรประจำตัวคนพิการ สำหรับส่วนภูมิภาคนอกจากกิจกรรมทั่วไปแล้ว ยังมีการแสดงพลังคนพิการที่มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม การจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องคนพิการ และการจัดกิจกรรมตามโครงการรวมพลังค้นหาและตรวจประเมินความพิการทุกครัวเรือนให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง
จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนพิการและครอบครัว และผู้ที่สนใจทั่วไป ร่วมกิจกรรมงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2552 เพื่อร่วมกันแสดงพลังให้สังคมได้ตระหนักในศักยภาพของคนพิการ รวมทั้งให้โอกาสคนพิการได้มีส่วนร่วมในทุกมิติของสังคม เช่นเดียวกับคนไม่พิการ ( สยามรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 พ.ย.2552 )

Welcome to WordPress.com. This is your first post. Edit or delete it and start blogging!